คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ {title}

นักวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ คว้า 6 เหรียญรางวัล จากการประกวดผลงานการประดิษฐ์นานาชาติ ประจำปี 2015 ณ  กรุงเจนีวา


ตามที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์ของนักวิจัยธรรมศาสตร์ ร่วมงานประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ 43 “The 43rd International Exhibition of Inventions of Geneva” ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 15-16 เมษายน 2558 ที่ผ่านมาโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 14 ผลงาน โดยมีผลงานของนักวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลรวม 6 รางวัล แบ่งเป็น 1 เหรียญทองเกียรติยศ 1 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดง และ 3 รางวัลพิเศษ ที่มอบให้โดยนานาประเทศ

การเข้าร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ณ กรุงเจนีวา ในครั้งนี้ ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยท่านอธิการบดี ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ตลอดจนสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทั้งด้านทุนสนับสนุนการประกวดสิ่งประดิษฐ์และงานสร้างสรรค์ในระดับนานาชาติเป็นการเฉพาะ ตลอดจนการส่งเสริมนักวิจัยที่เป็นพันธมิตรวิจัยต่างสถาบันและการวิจัยเพื่อการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ อันนับเป็นการเปิดโลกกว้างของงานวิจัยไทยสู่ระดับสากลมากยิ่งขึ้น

สำหรับการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติแห่งเจนีวา เป็นการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญงานหนึ่งของโลก ในแต่ละปีมีนักประดิษฐ์จากนานาประเทศทั่วโลกส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดเป็นจำนวนมาก โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 43 และมีการมอบรางวัลแยกตามประเภทกลุ่มผลงาน (class) ทั้งนี้ การเข้าร่วมการประกวดของทีมนักประดิษฐ์ไทยดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ผลงานเหรียญทองเกียรติยศ ได้แก่
ระบบตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างอัตโนมัติด้วยสัญญาณ Transcranial Doppler Ultrasound (Automatic Stroke Screening System using Transcranial Doppler Ultrasound) โดย รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. ระบบตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างอัตโนมัติ โดยใช้สัญญาณ Transcranial Doppler Ultrasound สามารถตรวจจับสิ่งหลุดอุดหลอดเลือด (Cerebral emboli) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักมากกว่า 80% ของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด มีค่าความไว 99% และค่าความจำเพาะ 90% สามารถใช้สนับสนุนการทำงานของแพทย์ในการเฝ้าระวังสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดที่เกิดขึ้นระหว่างการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (Cerebral angiography) และสามารถใช้สนับสนุนแพทย์ในการตรวจคัดกรองสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดในผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหน่วยแพทย์ห่างไกลที่ขาดแคลนบุคลากร (Class M: Medicine – Surgery – Orthopedics – Material for the Handicapped)

ผลงานที่ได้รับเหรียญทอง ได้แก่
เครื่องตรวจจับประจุไฟฟ้าบนวัสดุอนุภาคนาโน (Nanoparticle Material Charge Detector) โดย ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. และ รศ.ดร.พานิช อินต๊ะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภายใต้โครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกว. เครื่องตรวจจับประจุวัสดุอนุภาคนาโนต้นแบบนี้จะทำงานโดยการดูดตัวอย่างวัสดุอนุภาคนาโนที่ต้องการวัดผ่านท่อเก็บตัวอย่างและถูกอัดประจุด้วยชุดให้ประจุไฟฟ้าอนุภาคแบบโคโรนา จากนั้นวัสดุอนุภาคนาโนจะผ่านเข้าไปยังชุดดักจับไอออน เพื่อกำจัดไอออนอิสระที่มีความสามารถในการเคลื่อนตัวทางไฟฟ้าสูงออกก่อน เมื่อออกจากชุดดักจับไอออนแล้ววัสดุอนุภาคนาโนที่มีประจำจะผ่านเข้าไปยังชุดตรวจจับประจุไฟฟ้าอนุภาคเชิงไฟฟ้า เพื่อตรวจวัดระดับประจุไฟฟ้าสถิตของอนุภาค โดยวัสดุอนุภาคนาโนทั้งหมดจะถูกสะสมตัวบนแผ่นตกกระทบด้วยวิธีการตกกระทบเนื่องจากความเฉื่อยและแรงทางไฟฟ้าที่จ่ายให้กับขั้วอิเล็กโทรด ซึ่งแผ่นตกกระทบจะถูกเชื่อมต่อเข้าเครื่องวัดกระแสต่ำอิเล็กโทรมิเตอร์ เพื่อการวัดระดับกระแสไฟฟ้าที่วัดได้จากชุดตรวจจับประจุไฟฟ้าอนุภาคเชิงไฟฟ้าจะถูกนำไปประมวลผลข้อมูลด้วยหน่วยประมวลผลข้อมูลภายใน เพื่อแสดงกราฟความเข้มข้นเชิงจำนวนของวัสดุอนุภาคนาโน เครื่องตรวจจับต้นแบบที่พัฒนาขึ้นสามารถวัดจำนวนความเข้มข้นของวัสดุอนุภาคนาโนได้ในช่วง 7.45x108 และ 7.45x1011 particles/m3 สอดคล้องกับค่ากระแสไฟฟ้าของอนุภาคในช่วง 10 fA ถึง 10 pA ใช้เวลาในการประมวลผลน้อยกว่า 200 ms (Class C: Computer Sciences-Software-Electronic-Electricity-Method of Communication)

ผลงานที่ได้รับเหรียญทองแดง ได้แก่
เครื่องผลิตไบโอดีเซลพลังงานต่ำ (Purified biodiesel production unit using a continuous flow multimodes-double feed microwave heating) โดย ผศ.ดร.มาลี  สันติคุณาภรณ์ และคณะ สำหรับการรีไซเคิลน้ำมันพืชใช้แล้วโดยใช้เทคโนโลยีไมโครเวฟในการให้ความร้อน ทำให้รวดเร็ว ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Class A: Mechanics-Engines-Machinery-Tools-Industrial Processess-Metallurgy)

3 ผลงานที่ได้รับรางวัลพิเศษ (Special Prize) ได้แก่
1. รางวัลพิเศษจากประเทศโปแลนด์ – เครื่องผลิตไบโอดีเซลพลังงานต่ำ Purified biodiesel production unit using a continuous flow multimodes-double feed microwave heating โดย ผศ.ดร.มาลี  สันติคุณาภรณ์ และคณะ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ.
2. รางวัลพิเศษจากประเทศอิหร่าน-เครื่องตรวจจับประจุไฟฟ้าบนวัสดุอนุภาคนาโน (Nanoparticle Material Charge Detector) โดย ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. และ รศ.ดร.พานิช อินต๊ะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภายใต้โครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกว.
3. รางวัลพิเศษจากประเทศการ์ตาร์-Smart Water Monitoring and Control System Based on Cloud Storage โดย ผศ.ดร.นพพร  ลีปรีชานนท์ และคณะ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ.

 

 

กิจกรรมคณะฯ

ยังไม่มีข่าวกิจกรรมในขณะนี้