นักวิจัยวิศวกรรมศาสตร์ คว้า 6 รางวัล จากการประกวดผลงานการประดิษฐ์นานาชาติ ที่กรุงเจนีวา
นักวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้า 6 รางวัล จากการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ 42 หรือ “42nd International Exhibition of Inventions of Geneva” ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 2-6 เมษายน 2557
ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ปี 2556 หนึ่งในทีมนักวิจัยที่นำผลงานเข้าร่วมประกวดครั้งนี้ กล่าวว่า “ในงานประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติครั้งนี้ ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 12 ผลงาน สามารถคว้ารางวัลมาได้ 13 รางวัล แบ่งเป็น 3 เหรียญทอง 4 เหรียญเงิน 4 เหรียญทองแดง และ 2 รางวัลพิเศษ ซึ่งมาจากการโหวตของประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมงาน ทั้งนี้ งานประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ 42 มีนักวิจัยจำนวน 900 ท่าน จาก 45 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมงาน โดยมีผลงานส่งเข้าประกวดกว่า 1,000 ผลงาน ซึ่งจากทีมไทยตัวแทนประเทศไทยทั้งหมด ผลงานจากนักวิจัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลรวมมากที่สุดคือจำนวน 13 รางวัล นับเป็นความภาคภูมิใจที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยบนเวทีที่มีความสำคัญระดับโลก” การประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติแห่งเจนีวา เป็นการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญงานหนึ่งของโลก ในแต่ละปี มีนักประดิษฐ์จากนานาประเทศทั่วโลก ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดเป็นจำนวนมาก โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 42 และมีการมอบรางวัลแยกตามประเภทกลุ่มผลงาน (class) ทั้งนี้ การเข้าร่วมการประกวดของทีมนักประดิษฐ์ไทย ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
การประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติในครั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาตร์ สามารถคว้ารางวัลมาได้ 6 รางวัล จาก 1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง และ 2 รางวัลพิเศษ ดังนี้
1. รางวัลเหรียญทอง และรางวัล Special prize จากสาธารณรัฐประชาชนจีน
ผลงาน Home-Auto Lifting System (HALS) โดย ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ อาจารย์จักรพันธุ์ ชวนอาษา และคณะ (ได้รับรางวัลในประเภทการประกวด Class M Medicine - Surgery – Orthopaedics Material for the handicapped) อุปกรณ์นี้ออกแบบเพื่อช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วย คนพิการ และผู้สูงอายุ ได้รับการออกแบบให้ง่ายต่อการขนย้าย ประกอบ และติดตั้ง โดยไม่ต้องดัดแปลงรถยนต์ ประกอบด้วย 2 ฐาน คือ ฐานที่ใช้ภายในบ้าน และฐานที่ใช้ในรถยนต์ ชุดยกสามารถนำไปใช้ได้ทั้งกับรถยนต์ และในบ้าน สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 120 ก.ก.
2. รางวัลเหรียญเงิน
ผลงาน ซอฟ์ทแวร์เชิงจำลองเพื่อทำนายค่าอัตราการดูดกลืนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและการถ่ายเทความร้อนในศรีษะมนุษย์ขณะใช้โทรศัพท์มือถือ (Simulated Software for Predicting Specific Absorption Rate (SAR) and Heat Transfer in Human Head Subjected to Mobile Phone Radiation) โดย ศ.ดร. ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ดร.สมศักดิ์ วงษ์ประดับไชย และผศ.ดร.ธีรพจน์ เวชพันธุ์ (ได้รับรางวัลในประเภทการประกวด Class C Computer sciences - Software – Electronics Electricity - Methods of communication) เป็นซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการคำนวณ ค่าความเข้มสนามแม่เหล็กไฟฟ้า อัตราการดูดกลืนพลังงานจำเพาะ และการกระจายตัวเชิงอุณหภูมิภายในศีรษะมนุษย์ขณะใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งซอฟท์แวร์นี้สามารถทำนายปรากฏการณ์ถ่ายโอนที่เกิดขึ้นภายในศีรษะมนุษย์ที่อยู่ภายใต้พลังงานสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือได้อย่างแม่นยำ ผลการจำลองการกระจายตัวเชิงอุณหภูมิที่ได้จากการคำนวณจากซอฟท์แวร์มีค่าใกล้เคียงกับค่าการกระจายตัวเชิงอุณหภูมิบริเวณร่างกายมนุษย์ที่ได้จากการวัดขณะทำการใช้งานโทรศัพท์มือถือ ซึ่งผลงานนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่มีการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการสื่อสาร เช่น การออกแบบเสาอากาศและการออกแบบโทรศัพท์มือถือเป็นต้น
3. รางวัลเหรียญทองแดง
3.1 ผลงาน การอบแห้งเชิงอุตสาหกรรมโดยใช้ระบบไมโครเวฟกำลังต่ำที่ป้อนคลื่นสองตำแหน่งร่วมกับระบบสุญญากาศ (Commercailized Drier Processing Using a Combine Unsymmetrical Double Feed low Power Microwave and Vacuum System (CUMV)) โดย ดร.สมศักดิ์ วงษ์ประดับไชย ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช และนายวิโรจน์ จินดารัตน์ (ได้รับรางวัลในประเภทการประกวด Class A Mechanics - Engines - Machinery – Tools Industrial processes – Metallurgy) ระบบไมโครเวฟกำลังต่ำที่ป้อนคลื่นสองตำแหน่งร่วมกับระบบสูญญากาศ (CUMV) สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น ใบมะกรูด ใบหอมซอย เห็ดหูหนูขาวและดำ และพืชสมุนไพรบางชนิด สามารถนำมาอบแห้งและได้ผลเป็นที่สนใจ สามารถลดระยะเวลาในการอบแห้งลงได้ถึง 5-6 เท่าเมื่อเทียบกับการอบแห้งแบบดั้งเดิม และคุณภาพสีของผลิตภัณฑ์นั้นยังคงมีคุณภาพดีอีกด้วย
3.2 ผลงาน Solar UAV โดย รศ.ดร. วิโรจน์ ลิ่มตระการ (ได้รับรางวัลในประเภทการประกวด Class A Mechanics - Engines - Machinery – Tools Industrial processes – Metallurgy) เป็นอากาศยานไร้คนขับที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ solar power เพื่อให้สามารถบินทำภารกิจได้นานขึ้น
4. รางวัล Special prize จากประเทศอิหร่าน
ผลงาน ซีเมนต์โปร่งแสง (Translucent Cement) โดย รศ.ดร.บุรฉัตร ฉัตรวีระ (ได้รับรางวัลในประเภทการประกวด Class D Building - Architecture - Civil Engineering Construction - Materials – Woodwork)