ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลคว้ารางวัลบทความดีเด่น (รางวัล ศ.ดร ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์)
ผลงานวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง ระบบไมโครเวฟสำหรับบ่มคอนกรีตของผิวจราจร (A Study of microwave system for curing concrete pavement) คว้ารางวัลบทความดีเด่น (รางวัล ศ.ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์) ในงาน การประชุมวิชาการ "การถ่ายเทพลังงานความร้อนและมวลในอุปกรณ์ด้านความร้อน (ครั้งที่ 10) เมื่อวันที่ วันที่ 10-11 มีนาคม 2554 ณ โรงแรม เชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่
ด้วยจุดเด่นของงานวิจัยนี้คือมีความสมบูรณ์ของการวิเคราะห์ทั้งเชิงทฤษฎีและการทดลองจริง และเป็นนวัตกรรมใหม่ทางด้านวิศวกรรมงานวิจัยนี้เป็นการนำเสนอผลการศึกษาการออกแบบและสร้างอุปกรณ์ไมโครเวฟต้นแบบสำหรับ การบ่มเร่งเพื่อใช้ในการซ่อมแซมพื้นผิวการจราจรซึ่งเป็นคอนกรีตด้วยพลังงานไมโครเวฟ ข้อดีของเทคนิคนี้ที่ดีกว่าแบบวิธีการดั้งเดิมที่บ่มด้วยอากาศธรรมชาติในหลายมิติ เช่นใช้เครื่องจักรและแรงงานน้อย และลดระยะเวลากว่า 5 เท่าตัว อีกทั้งไม่ต้องมีการปิดผิวการจราจรซึ่งเป็นปัญหาต่อผู้ใช้ถนน ในการศึกษานี้ประกอบด้วยการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์มาช่วยในการทำนายพฤติกรรมทางกายภาพล่วงหน้าเพื่อใช้เป็นแนวทางการออกแบบระบบจริงในทางปฏิบัติจริง ซึ่งผลที่ได้จากการทำนายจากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์โดยผ่านแบบจำลองของสมการคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ควบคู่กับแบบจำลองของสมการความร้อนและเงื่อนไขขอบเขตที่เกี่ยวข้องให้ผลที่แม่นยำและเชื่อถือได้เป็นอย่างดี
สำหรับพารามิเตอร์ที่ศึกษาในงานวิจัยครั้งนี้ ระบบจะใช้ไมโครเวฟที่ระดับความถี่ 2.45 GHz ที่กำลัง 800 วัตต์ เพื่อศึกษาอิทธิพลที่มีต่อสมบัติของคอนกรีตได้แก่ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ระยะเวลาที่ใช้การบ่มคอนกรีต การพัฒนากำลังอัด และนำผลที่ได้ไปทำการเปรียบเทียบกับสมบัติของคอนกรีตที่ผ่านการบ่มด้วยน้ำและอากาศตามลำดับ
จากผลการวิจัยพบว่า การบ่มคอนกรีตโดยใช้พลังงานไมโครเวฟมีระยะเวลาของการบ่มที่สั้นกว่าการบ่มด้วยวิธีดั้งเดิม ในขณะที่กำลังอัดในช่วงต้นของคอนกรีตที่ผ่านการบ่มด้วยไมโครเวฟมีการพัฒนาที่สูงกว่าคอนกรีตที่ผ่านการบ่มด้วยน้ำและอากาศ อย่างมีนัยสำคัญ ผลงานวิจัยโครงการนี้เป็นผลงานของนักศึกษาระดับปริญญาโทคือนายพรเจริญ ชนะใหม่ จากหน่วยวิจัย Research Center of Microwave Utilization in Engineering (R.C.M.E)
ภายใต้อาจารย์ที่ปรึกษาคือ ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ และ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์